สวนพันธุ์ไม้เมืองหนาว และพระตกหนักสมเด็จย่าที่พระตำหนักดอยตุง
ประวัติ พระตำหนักดอยตุงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2530 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มีพระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษาจะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ จึงได้เลือกดอยตุง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามขณะเดียวกันสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่เมื่อต้นปี พ.ศ.2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้าง “บ้านที่ดอยตุง” พร้อมกันนี้ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะ “ปลูกป่าบนดอยตุง” จึงกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น
โครงการพัฒนาดอยตุงเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง นอกจากทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้ว ยังมีการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียวกันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้
- โทร.0-5376-7001,0-5376-7015-7 และ www.doitung.org
- เปิดเวลา 07-30-17.30 น.
- ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสั้นเกินรวม
- ค่าธรรมเนียมเข้าชมพระตำหนัก 70 บาท ชมสวนแม่ฟ้าหลวง 80 บาท หอพระราชประวัติ 30 บาท บัตรรวมเข้าชมทั้งสามที่ 150 บาท
- มีที่พัก ติดต่อที่สำนักงานโครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย เวลาราชการ โทร.0-5376-7015-7 ต่อ 230 และ 231
- มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก
- แผงลอยจำหน่ายของพื้นเมืองของชาวเขาเผ่าอาข่า
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางขึ้นดอยตุงสายใหม่ ผ่านบ้านไทยใหญ่ร่มไทร กม.2 ผ่านจุดชมวิว กม.12 จากนั้นเลี้ยวซ้ายระหว่างหลัก กม.12 และ13 ไปอีก 2 กม. จะถึงพระตำหนัก ระยะทาง 15 กม. หรือใช้ทางขึ้นสายเก่า โดยขับเลยแยกบ้านสันกองไปอีกราว 1 กม. เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1149 ที่บ้านห้วยไคร้ ระหว่างหลัก กม. 871-872 เป็นทางขึ้นดอยตุงสายเก่า เส้นทางสูงชันกว่าสายใหม่ แต่ระยะทางสั้นกว่าเล็กน้อย ถนนจะไปบรรจบกับทางขึ้นสายใหม่ใกล้ กม.6
สิ่งน่าสนใจ
อาคารพระตำหนักดอยตุง
- ห้ามถ่ายภาพภายในพระตำหนัก
ทำพิธีลงเสาเอกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2530 พระตำหนักแห่งนี้ถือเป็นบ้านหลังแรกของสมเจย่า สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยเน้นที่ความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์ ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จย่า พระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีและเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้า เที่ยวชม
สถาปัตยกรรมของพระตำหนักเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบล้านนากับบ้าน พื้นเมืองของสวิส สร้างบนไหล่เนินมองเห็นทิวทัศน์ไดไกลสุดสายตา พระตำหนักมีสองชั้นและชั้นลอยชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน แต่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว ที่โดดเด่น สะดุดตา คือ กาแล และไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหลที่อ่อนช้อยโดยรอบ ภายในตำหนักล้วนใช้ไม้สนและไม้ลังที่ใส่สินค้า เป็นเนื้อไม้สีอ่อนที่สวยงาม จุดน่าสนใจอีกจุดคือเพดานดาวต่างๆ ล้อมรอบระบบสุริยะ ชมได้อย่างไม่รู้เบื่อ ส่วนบริเวณผนังเชิงบันไดและสลักเป็นพยัญชนะไทยพร้อมภาพประกอบ ๐ส่วนแม่ฟ้าหลวง เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวในหุบเขา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 เดิมมีพื้นที่ 12 ไร่ มีการปลูกดอกไม้หมุนเวียนสลับให้ออกดอกไม่ซ้ำกันตลอดสามฤดู ล้อมรอบประติมากรรมชื่อ “ความต่อเนื่อง” เป็นรูปเด็กยืนต่อตัวที่กลางสวน นอกจากนี้ยังจัดแต่งสวนหินซึ่งประดับด้วยหินภูเขากลมเกลี้ยงขนาดใหญ่ สวนน้ำอุดมด้วยไม้น้ำพันธุ์ต่างๆ บัว และสวนปาล์ม ที่รวบรวมปาล์มไว้มากมายในพื้นที่ 13 ไร่ สวนแม่ฟ้าหลวงจึงมีพื้นที่ทั้งสิ้น 25 ไร่
หอพระราชประวัติ เปิดเมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆ แปดห้อง
ห้องแรก แผ่นดินไทยฟ้ามืด กล่าวถึงการเสด็จสวรรคตของสมเด็จย่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2538 และพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2539
ห้องที่ 2 ฉันจะเดินทางด้วยเรือลำนี้แสดงถึงปรัชญาในการดำเนินพระชนม์ชีพ ที่ประกอบด้วยหลักเหตุผลและการสร้างสรรค์ทางศิลปะ
ห้องที่ 3 ภูมิธรรม ประมวลความสนพระทัยในหลักธรรมคำสั่งสอน
ห้องที่ 4 หนึ่งศตวรรษ เป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่าและเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปีแห่งการพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.2443 ทั้งนี้ทรงพระปรีชาชาญในการอภิบาลพระธิดาและพระโอรสที่ต่อมาได้เถลิงถวัล ยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์รวมทั้งทรงนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกร จนองค์การยูเนสโกได้ประกาศพระนามในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก
ห้องที่ 5 เวลาเป็นของมีค่า กล่าวถึงงานฝีมือต่างๆ ของพระองค์ที่ใช้พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ
ห้องที่ 6 พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบทและการสาธารณสุขไทย
ห้องที่ 7 พระผู้อภิบาล บรรยายถึงความเป็นพระผู้อภิบาลพระประมุขของชาติ พระผู้อภิบาลมนุษยชาติ และพระผู้อภิบาลธรรมชาติ และ
ห้องที่ 8 ดอยตุงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวถึงโครงการพัฒนาดอยตุงที่เป็นโครงการพัฒนาระยะยาว เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น